หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ด้วยสภาพสังคมไทยปัจจุบันที่มีข่าวคนดัง ๆ รัก ๆ เลิก ๆ กิ๊ก ๆ เกลื่อนสื่อ อาจทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยคลายความสนใจเรื่อง “รักแท้” ลงไป แต่กับเรื่องราวชีวิตรักต่างเชื้อชาติภาษาของผู้หญิงไทยคนหนึ่งที่ทีม “วิถีชีวิต” นำมาถ่ายทอดในวันนี้ บางทีอาจจะทำให้คำว่า “รักแท้” ดูมีมนต์ขลังขึ้นอีกครั้ง...
“หริ่น - เนตรนภา แก้วแสงธรรม” จากสาวไทยธรรมดา ๆ คนหนึ่ง วันหนึ่งด้วยความรักชีวิตเธอก็เปลี่ยนไป กลายเป็น “เลดี้หริ่น - เนตรนภา แก้วแสงธรรม ยาเนซโกวา” จนหลายคนมองว่าเธอคืออีกหนึ่ง “ซินเดอเรลล่าเลือดไทย”
กับชีวิตก่อนหน้า จนถึงวันนี้ เจ้าตัวเล่าย้อนให้ฟังว่า เธอเกิดปี 2520 ปัจจุบันอายุ 31 ย่าง 32 ปี พื้นเพเป็นคน จ.อุบลราชธานี มีพี่น้องสี่คน เธอเป็นพี่สาวคนโต และมีน้องแฝดหญิงสามคน หลังจบมัธยมปลายเธอสอบติดคณะยอดนิยมที่ชื่นชอบ วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน สาขาหนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ช่วงที่เรียนธรรมศาสตร์บ้ากิจกรรมมาก ทำทุกอย่างตั้งแต่ตั้งพรรคการเมืองนักศึกษา ลงเลือกตั้ง เป็นโต้โผทำขบวนหุ่นล้อการเมืองในงานบอลประเพณี ออกค่ายพัฒนาชนบทบนภูเขาที่ไม่มีน้ำไฟ รับบริจาคช่วยเหลือบ้านพักคนชรา ทำหมด คนอื่นอาจมองว่าเป็นคนหัวค่อนข้างรุนแรงหน่อย ๆ แต่ตัวเองรู้สึกว่าการทำกิจกรรมสนุกกว่าการเรียน แล้วทางมหาวิทยาลัยก็ให้การสนับสนุนด้วย”
หลังเรียนจบก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงาน เริ่มจากทำงานเป็นนักข่าวออนไลน์ยุคแรก ๆ ของสื่อค่ายหนึ่ง ต้องทำข่าวทุกประเภท เคยปลอมตัวไปเป็นคนงานในนิคมอุตสาหกรรมต่างจังหวัด ปลอมเป็นคนเก็บขยะไปกับรถขนขยะ ทำตัวเป็นคนเร่ร่อนหาข่าว ซึ่งความจริงไม่ต้องทำถึงขนาดนั้นก็ได้ แต่เธอบอกว่าทำสนุก ๆ คิดว่าตัวเองเป็นนักข่าวหัวเห็ด จึงชอบทำอะไรที่คนอื่นไม่กล้าทำ เพราะถือเป็นประสบการณ์ชีวิตที่หาซื้อไม่ได้
ต่อมาออกมาทำหน้าที่บรรณาธิการสำนักพิมพ์แบรนด์เอจ และบรรณาธิการบริหาร เวิร์คพอยท์ แล้วก็ออกมาเป็นโกสต์ไรเตอร์ นักเขียนอิสระ ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้เธอได้พบรักแท้กับ “ท่านเซอร์มาเร็ก อติลา ยาเนเชค บารอน วอน ดูด๊าซ” ซึ่งมีหุ้นส่วนเป็นนักธุรกิจชาวไทย โดยการพบกันในครั้งแรก ๆ นั้น เธอเล่าว่าต่างฝ่ายต่างก็ยังไม่ถูกใจกัน ฝ่ายชายค่อนข้างจะชอบผู้หญิงที่ดูเรียบร้อย ขณะที่ตัวเธอนั้นกระโดกกระเดก ไม่เรียบร้อย พูดจาโผงผาง แต่เพราะการไปเขียนหนังสือท่องเที่ยวที่ปราก ชื่อ “ปรากในรอยหนาว” จึงเป็นจุดหักเห
มีโอกาสได้ศึกษานิสัยกันและกัน จนกลายเป็น “ความรัก”
“พบกันครั้งแรกที่เวทีมวยราชดำเนิน ท่านเซอร์มาเร็กมาดูมวยไทย เนื่องจากชื่นชอบกีฬานี้เป็นพิเศษ และเป็นโปรโมเตอร์มวย นำนักมวยไทยไปชกโชว์ที่ยุโรปหลายประเทศ เช่น สเปน สาธารณรัฐเช็ก และเยอรมันนี ตอนแรกที่เจอก็ไม่รู้สึกชอบเลย เพราะรู้สึกว่าเป็นคนขี้เก๊ก และดูหยิ่ง ๆ แต่ต่อมาเขาต้องการนักเขียน ก็เลยเชิญไปเขียนหนังสือท่องเที่ยวที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ไปเที่ยวที่นั่นสิบวัน กับเพื่อนช่างภาพ ทำให้มีโอกาสทำความรู้จักกันมากขึ้น 3 เดือนต่อมาก็ตกลงคบกัน อีกประมาณ 1 ปีก็หมั้น และแต่งงานกันเมื่อ 7 ธ.ค. 2550 ตอนนี้ก็แต่งงานมาได้จะครบปีแล้วค่ะ”
เลดี้หริ่น - เนตรนภา เล่าอีกว่า ตอนแรกที่พบและคบหาดูใจกัน ช่วง 2 ปีกว่าๆ เธอไม่รู้เลยว่ามาเร็กมีฐานันดรศักดิ์อะไร คิดว่าเป็นเพียงฝรั่งที่ชอบมวยไทย และเป็นโปรโมเตอร์มวยธรรมดา ๆ คนหนึ่งเท่านั้น เพราะตลอดเวลาเขาไม่เคยแสดงตัว ซึ่งเธอเองก็ไม่ได้สนใจในเรื่องยศศักดิ์อะไร จนกระทั่งแต่งงานแล้วถึงได้รู้
หลังการได้แต่งงานกับท่านเซอร์มาเร็ก ซึ่งเป็นถึงที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคง รัฐสภาสาธารณรัฐเช็กด้วย เธอบอกว่า เรื่องฐานะก็แค่พอกินพอใช้ และทำให้ชีวิตสุขสบายมากขึ้นหน่อยเท่านั้น แค่เปรียบเหมือนได้เกษียณอายุทำงานก่อนเวลา ได้มีเวลาทำงานที่รักมากขึ้น คืองานเขียนหนังสือ จากที่เมื่อก่อนจะต้องทำงานเก็บเงินเป็นปี ๆ กว่าจะได้ไปเที่ยวที่ใดที่หนึ่งสักแห่ง แล้วเอามาเป็นข้อมูลเขียนหนังสือ
กับผลงานเขียน ก็อาทิ ลมหนาวในปารีส, ปรากในรอยหนาว และปัจจุบันเธอเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ SUN MOON TREE ที่มีผลงานล่าสุดคือ อันซีน แคสเทิล (Unseen Castles) 13 ปราสาทเล็กโรแมนติก ในสาธารณรัฐเช็ก เล่าเรื่องปราสาทยุคเก่าแห่งกรุงปรากที่โลกยังไม่เคยเห็นมาก่อนแบบละเอียดยิบ
“ก็มักมีคนบอกว่าหริ่นเป็นซินเดอเรลล่าเมืองไทย คงต้องบอกว่าไม่เป็นอย่างนั้นหรอกค่ะ ซินเดอเรลล่า ต้องเป็นเจ้าหญิงตกยาก และมีแม่เลี้ยงใจร้าย แต่ตัวเองเป็นแค่คนทำงานธรรมดาเหมือนสาวออฟฟิศทั่วไป แล้วก็มีคุณแม่ใจดีด้วยค่ะ มีครอบครัวที่อบอุ่นพอสมควร”
เมื่อถูกถามว่าชีวิตเปลี่ยนไปมากไหม เมื่อแต่งงานแล้วเป็นบารอนนิส หรือเลดี้ เธอบอกว่า ก็เปลี่ยนไปบ้าง แต่ไม่ได้เปลี่ยนตัวตนที่เป็นสิ่งสำคัญ เปลี่ยนเรื่องมีโอกาสได้เดินทางท่องเที่ยวไปตามประเทศต่าง ๆ ในยุโรป เพราะสามีสนับสนุนให้เขียนหนังสือท่องเที่ยว ถ้าไม่ว่างพาไปเองเขาก็ให้ผู้ช่วยพาไป เลยมีโอกาสได้ทำงานที่รัก ส่วนเรื่องชีวิตประจำวัน สามีก็ตั้งเงินเดือนให้ ก็พยายามใช้ให้อยู่ในปริมาณนั้น ไม่ให้เกิน ไม่พยายามใช้ของยี่ห้อดังถ้าไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นก็ไม่ให้เกินเงินเดือน เวลาอยู่ที่เช็กก็จะสบายหน่อย มีคนคอยดูแล
“แต่อยู่เมืองไทย ก็ธรรมดาค่ะ ถ้าสามีอยู่ด้วยก็จะนอน กินอยู่ ในโรงแรม แต่ถ้าสามีไม่อยู่ จะไปนอนออฟฟิศที่ทำเป็นสำนักพิมพ์หนังสือ อยู่ง่าย ๆ กินริมถนนเหมือนเดิม ชอบแบบนี้ด้วยค่ะ สบายดี”
ถามต่ออีกว่าพอเป็นเลดี้แล้วได้เจอเรื่องแปลก ๆ ไหม เจ้าตัวเล่าว่า ก็มี เช่นมีคนพยายามเสนอขายที่ให้เป็นร้อย ๆ ล้าน หรือมาขอเงิน หรือขอให้หาแฟนให้ ก็ต้องอุเบกขา วางเฉย แม้จะสงสาร แต่ต้องคิดว่าทุกคนมีกรรมเป็นของตัวเอง เราเองก็ไม่ได้ดีกว่าคนอื่น มีทุกข์ มีปัญหาเหมือนกัน คนเรามันมีทุกข์กันคนละแบบ
“โลกเปิดกว้างขึ้น เลยมีการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมหรือเชื้อชาติกันมากขึ้น มันไม่ใช่เรื่องแปลก ดีหรือไม่ดี อีกต่อไปแล้ว อยู่ที่เราเลือกคนดีหรือไม่ดีมากกว่า แต่ถ้าเราพยายามตั้งใจ คิดจะมองหาแต่สามีชาวต่างชาติ ทั้งที่ความรักเป็นเรื่องของพรหมลิขิต ก็เหมือนวิ่งไล่ตามเงา ทุกอย่างก็จะไม่ราบรื่น เจอทุกข์ อาจเจอคนไม่ดี ไม่ใช่เนื้อคู่ที่ดีของเรา ปล่อยให้เป็นไปตามเบื้องบนกำหนดดีกว่า แต่จะอย่างไรก็ขอให้ทุกคนโชคดีในเรื่องของความรักนะคะ” ....เป็นทิ้งท้ายจาก “หริ่น - เนตรนภา”
“เลดี้หริ่น” ที่เบื้องบนกำหนดให้มี “รักแท้ข้ามชาติ”
รับบท‘พีอาร์ประเทศไทย’
“หริ่นมีโอกาสได้เข้าสังคมตามสมควร เพราะสามีก็เป็นนักธุรกิจด้วย เป็นโปรโมเตอร์มวยไทย จัดแข่งมวยไทยในยุโรป ก็มีโอกาสได้ไปประเทศต่าง ๆ ได้เจอประเทศแปลก ๆ การเข้าสังคมของหริ่นไม่ได้หมายถึงว่า ไปงานเลี้ยง แต่เป็นโอกาสได้ทำโครงการต่าง ๆ อย่างล่าสุด โครงการหนังสือท่องเที่ยวสาธารณรัฐเช็ก ภาคภาษาไทย พร้อมดีวีดี ซึ่ง เจ้าชายคาเรล ชวาเซนเบิร์ก รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของเช็ก รับไว้ภายใต้การอุปถัมภ์ ทำให้มีโอกาสท่องเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ อย่างเอ๊กซ์คลูซีฟมากขึ้น ก็ดีต่อการเขียนหนังสือค่ะ”
“หริ่น” เล่า อย่างไรก็ตาม ก็ใช่ว่าเธอจะสนใจแต่เรื่องราวของต่างประเทศ กับประเทศไทย โดยเฉพาะในยามที่การเมืองร้อนรุ่ม เป็นที่จับตาของต่างชาติ เธอเองบ่อยครั้งก็ทำหน้าที่เป็นพีอาร์ประเทศไทยกราย ๆ
“อย่างที่เช็ก สามีเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประเทศ ก็จะมีเพื่อน ๆ ที่ทำงานวงการการเมืองบ้าง ก็จะมีโอกาสได้ดินเนอร์กัน วันดีคืนดีก็จะเจอคำถาม เช่น ทำไมประเทศไทยต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญบ่อย ข้อไหน อะไร อย่างไร เราจึงต้องพยายามศึกษาเรื่องนี้ไว้ด้วย เพราะว่าคนที่ถามเราก็ทำงานในรัฐบาลทั้งนั้น เขาก็เก็บข้อมูลประเทศไทยเราไปจากการสนทนาง่าย ๆ แบบนี้ด้วย”
เชาวลี ชุมขำ :รายงาน
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ขอบพระคุณภาพประกอบ จากงานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์